หลักการและเหตุผล

     จากโมเดลประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นโมเดลขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่งคั่ง และยั่งยืน  เป็นการเปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม จากการที่ประเทศไทยมีกลไกในการขับเคลื่อนประเทศชุดใหม่ภายใต้ ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีเป้าหมายหลัก 4 มิติ คือ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความอยู่ดีมีสุขทางสังคม การยกระดับคุณค่ามนุษย์ และการรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลได้กำหนดทิศทางการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 หนึ่งในวาระการพัฒนาคือ การพัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต  ซึ่งส่วนหนึ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมในกลุ่มของเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ โดยมีเป้าหมายในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ พัฒนานวัตกรรมการผลิต หรือส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิต และส่งผลในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ในอนาคต  จากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชากรส่วนหนึ่งเป็นเกษตรกร มีการเพาะปลูกพืชในสวน ไร่นา และหนึ่งในพืชที่นิยมปลูกหลังเก็บเกี่ยวพืชหลัก คือ ทานตะวัน โดยทานตะวันสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรและยังสามารถจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้เกษตรกรนิยมปลูกเพิ่มมากขึ้น หลังจากการเก็บเกี่ยวดอกทานตะวันไปแล้วจะทำให้เหลือต้นทานตะวันเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ เกษตรกรมีการกำจัดต้นทานตะวันที่ไม่ใช้แล้วด้วยการเผา ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมของการเผาต้นทานตะวันที่ไม่ใช้แล้ว จึงได้มีการนำเอาเศษวัสดุเหลือใช้จากต้นทานตะวันมาพัฒนาเป็นกระถางเพาะกล้าไม้ เพื่อให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าและยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

     ดังนั้นในงานวิจัยนี้จะพัฒนาเครื่องจักรเพื่อขึ้นรูปกระถางเพาะชำกล้าไม้จากเศษวัสดุเหลือใช้จากต้นทานตะวัน ทดแทนถุงเพาะชำพลาสติก ด้วยกระบวนการออกแบบและผลิตกระถางเพาะกล้าไม้ซึ่งต้องมีการคิดค้นและการออกแบบส่วนผสมที่เหมาะสมต่อการขึ้นรูปกระถาง รวมถึงการออกแบบและพัฒนาเครื่องจักรที่ใช้ขึ้นรูปกระถาง เพื่อให้ได้กระถางที่มีคุณภาพตามที่ต้องการสามารถนำไปใช้เพาะต้นกล้าได้จริง เมื่อต้นกล้าเจริญเติบโตได้ระยะหนึ่งสามารถนำไปปลูกลงในดินได้เลยโดยไม่ต้องฉีกถุงเพาะชำแบบเดิมที่เป็นถุงเพาะชำพลาสติก เป็นการช่วยรักษาสภาพแวดล้อม ลดปริมาณขยะจากวัสดุเพาะชำ และเกษตรกรยังสามารถนำไปเป็นแนวทางในการนำวัสดุธรรมชาติที่ไร้ประโยชน์ให้กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และการช่วยให้เกษตรกรประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อกระถางเพาะชำได้อีกด้วยและยังสามารถนำไปผลิตแล้วขายเพื่อก่อให้เกิดรายได้ 

     นอกจากนี้งานวิจัยนี้ยังมีการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์เพื่อจัดเก็บและแสดงองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรมกระถางเพาะกล้าไม้จากเศษพืชทานตะวันทั้งการออกแบบ การผลิต และการนำไปใช้ประโยชน์ สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ ทำให้เกิดการเผยแพร่ประโยชน์อย่างกว้างขว้าง และก่อให้เกิดการเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมกระถางเพาะกล้าไม้จากเศษพืชต้นทานตะวันเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยแหล่งเรียนรู้จะเผยแพร่องค์ความรู้นี้ให้กับเกษตรกรให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ โดยช่วยลดต้นทุนในการประกอบอาชีพของเกษตรกรได้ และนอกจากนี้ยังสามารถนำองค์ความรู้นี้มาผลิตเพื่อจัดจำหน่ายเป็นสินค้า ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นได้และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม